Skip to content
CPR และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร จากกรณีศึกษา โจ บอยสเก๊าท์

CPR และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร จากกรณีศึกษา โจ บอยสเก๊าท์

จากกรณี การเสียชีวิตของ โจ บอยสเก๊าท์ นักร้องดังยุค 90 จากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความรู้ความเข้าใจในการทำ CPR ว่าเป็นสิ่งที่ควรบรรจุไว้ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง

โดยล่าสุด ทางเพจ Street Hero Project ได้นำเสนอบทความเรื่อง CPR กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

อาจเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน และเมื่อไรก็ได้ คือ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน พบได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่สำคัญจากสถิติจะเกิดขึ้น นอกโรงพยาบาลมากกว่าในโรงพยาบาล

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่มาจากโรคหัวใจ และจากสาเหตุอื่นๆ เช่น จมน้ำ ถูกไฟฟ้าช็อก ไฟไหมสำลักควันไฟ ขาดอากาศหายใจ สำลักอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอม

เมื่อหัวใจหยุดเต้นจะเกิดอะไรขึ้น

จะไม่มีเลือดไปเลี้ยงร่างกาย สมองขาดเลือดไม่ได้จะทำหมดสติภายใน 10 วินาที เนื้อสมองของมนุษย์ทนต่อการขาดเลือดได้นานแค่ประมาณ 4 นาที หากไม่ได้รับการทำ CPR ภายใน 4 นาทีแรก เนื้อสมองจะเริ่มเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สมองตาย

โอกาสรอดมีไหม

มี หากคนที่พบเหตุสามารถทำ CPR และขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาใช้ จะทำให้ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น

การทำ CPR มันช่วยอะไร

การ CPR หรือการกดหน้าอก ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงร่างกายโดยเฉพาะสมองและหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ โดยที่เนื้อสมองยังไม่เสียหาย หรือถูกทำลายจากการขาดเลือดที่มีออกซิเจน ความสำคัญจึงอยู่ที่ ทำการ CPR ในทันทีที่พบว่าหัวใจหยุดเต้น และใช้เครื่อง AED ทันทีที่เครื่องมาถึง

AED คืออะไร

มันคือเครื่องช๊อกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ประชาชนสามารถใช้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ ทำงานคล้ายเครื่องช๊อกไฟฟ้าหัวใจที่มีใช้อยู่ในโรงพยาบาล แต่ทำหน้าที่ ช็อกไฟฟ้าหัวใจให้กับผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ที่ยังมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบสั่นพลิ้ว (fibrillation) ให้การสั่นพลิ้วของหัวใจหยุดลง เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเองได้อีกครั้งหนึ่ง

แล้วต้องผายปอดหรือไม่

ในระยะแรกนั้น ผู้ป่วยจะยังมีออกซิเจนในเลือดอยู่หลายนาที (6-8 นาที) หากผู้ประสบเหตุไม่เคยฝึกการช่วยหายใจ หรือไม่ประสงค์จะเป่าปากช่วยหายใจ เมื่อได้ทำการร้องขอความช่วยเหลือ โทร 1669 ขอทีมแพทย์ฉุกเฉิน ก็ให้ทำการกดหน้าอกแต่เพียงอย่างเดียวไปก่อน รอให้ผู้อื่นหรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือต่อไป

โอกาสรอดมีมากแค่ไหน

การกดหน้าอก แต่เพียงอย่างเดียว มีกาสรอดมีเพียง 5% แต่หากพบว่ามีคลื่นหัวใจในขณะที่ AED มาถึง เป็นแบบ หัวใจสั่นพลิ้ว โอกาสรอดจะเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 2 เท่าขึ้นไป

เครื่อง AED อันตรายไหม

เครื่องเออีดีจะไม่ทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจในผู้ที่มีหัวใจเต้นเป็นปกติ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เครื่องเออีดีมีความปลอดภัย ที่ประชาชนต้องระวังในการใช้ว่าเวลาช๊อกห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยเพราะจะโดนช๊อกไปด้วย

ในตอนท้ายทางเพจได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อยากให้ทุกคนตะหนักและตื่นตัวในการเรียนรู้การทำ CPR กันให้มากขึ้น เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนที่เรารักหรือไม่ ทุกวินาทีมีค่าเท่าชีวิต

Source: Street Hero Project


เรื่องที่เกี่ยวกับ โจ บอยสเก๊าท์ :

เพื่อนสนิท โจ บอยสเก๊าท์ เผย เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่า ตัวเองมีโรคประจำตัว