จากกรณีเน็ตไอดอลคนหนึ่ง โดนจับข้อหามี บุหรี่ไฟฟ้า ไว้ในครอบครอง ทำให้เราได้รู้ว่า ผู้เสพบุหรี่ไฟฟ้าหรือแม้แต่ผู้ที่ครอบครองก็มีความผิด และที่สำคัญคือ มีโทษหนักมาก
แม้จะมีการกล่าวอ้างกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยลดหรือช่วยทำให้เลิกการสูบบุหรี่จริงได้ แต่เนื่องจากความที่มันเป็นสินค้าใหม่ การวิจัยหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่ออกมารองรับยังไม่หนักแน่นเพียงพอ สรุปง่าย ๆ เบื้องต้นก็คือ ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าดีหรือไม่ดี วันนี้ ออนไลน์ไอดอล จึงขอมาเตือนถึงโทษทางกฎหมายสำหรับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย เป็นไปตามประกาศของ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557
นั่นหมายความว่า บุหรี่ไฟฟ้าทุกตัวที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าใครจะมีเอาไว้เพื่อการใด จะเสพเอง หรือมีเพื่อนให้มา จะเก็บไว้ที่บ้าน ในรถ คือผิดทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น
เมื่อกฎหมายห้ามนำเข้า ทำให้มีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือกฎหมายศุลกากร ในมาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือ ข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้างต้นเป็นโทษของผู้นำเข้า ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี นั่นก็หมายความว่า ใครที่เดินทางไปต่างประเทศแล้วนำบุหรี่ไฟฟ้ากลับเข้ามาประเทศไทย โดยหลีกเลี่ยงพิธีศุลกากร (ซึ่งจริง ๆ มันนำเข้ามาไม่ได้อยู่แล้ว) มีโทษหนักสูงสุดถึง 10 ปี หรือถ้าปรับก็เป็นเงินสูงสุดถึง 5 แสนบาท
ครอบครองเพื่อสูบ โทษสูงสุดติดคุก 5 ปี !
ส่วนคนที่มีไว้ครอบครองเพื่อสูบ หรือจะครอบครองเอาไว้เฉย ๆ ก็ตาม เมื่อมีสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในการครอบครอง โดยในเนื้อหากฎหมาย ม. 246 บัญญัติเอาไว้ว่า
“ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิด… “
สรุปก็คือห้ามมีไว้ในครอบครอง ไม่เช่นนั้นจะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และก็ยังมีโทษปรับอีกด้วย
ถ้ามีอยู่จะทำอย่างไร ?
สำหรับท่านที่ตอนนี้มีบุหรี่ไฟฟ้าครอบครองอยู่ วิธีที่ดีที่สุดวิธีเดียวที่ท่านจะตัดปัญหาได้ทั้งหมดนั่นก็คือ ทำลายมันทิ้งให้สิ้นสภาพ แต่ในกรณีเสียดายเพราะซื้อมาแพง เลือกที่จะไปให้เพื่อน ก็เหมือนกับโยนสิ่งผิดกฎหมายไปให้เพื่อน หรือหากเสียดายแล้วเอาไปประกาศขาย อันนี้ถ้าโดนจับได้ก็หนักกว่าเดิมอีก
เสริมทิ้งท้ายไว้ว่า โทษที่กล่าวไว้ข้างต้นมันหนักกว่าการเสพยาบ้า เนื่องจากยาบ้ากฎหมายมองว่า ผู้เสพเป็นผู้ป่วยจึงมีโทษให้เข้าสถานบำบัด 45 วัน แต่การมีบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นการครอบครองสินค้าหนีภาษี
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาตามมา มีคนรู้จักคนไหนที่ยังไม่รู้ก็ต้องไปเตือนให้เขารู้ ก่อนที่จะโดนเจ้าหน้าที่จับ แล้วมาอ้างทีหลังว่าไม่รู้กฎหมาย ซึ่งรับฟังไม่ได้
Author: Ranaichanok Eksupak
Photos: 1 | 2 | 3 | 4
Source: ชูวิทย์ตีแสกหน้า