Skip to content
ออเจ้า และคำอื่นๆใน บุพเพสันนิวาส ที่มาและความหมาย

ออเจ้า และคำอื่นๆใน บุพเพสันนิวาส ที่มาและความหมาย

ละคร บุพเพสันนิวาส ซึ่งดำเนินเรื่องอยู่ในสมัยอยุธยา ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยมีการใช้คำสรรพนามเรียกกันว่า ออเจ้า ที่ทำเอาฮิตติดปากกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้ โดยเพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ได้เผยที่มาและความหมายเพื่อให้ดูละครกันสนุกยิ่งขึ้น

มีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม บันทึกโดยราชฑูตชาวฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) เมื่อปี พ.ศ. 2230 ซึ่งลาลูแบร์ได้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ เมื่อตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสยามประเทศได้ประมาณ 3 เดือน

ในหนังสือระบุถึงสรรพนามที่คนอยุธยาในสมัยนั้นใช้เอาไว้ ดังนี้

คำเรียกแทนตัวเอง

  • กู = คำที่เจ้านายพูดกับบ่าวทาส
  • ข้า = คำที่ผู้น้อยใช้แทนตัวเองเมื่อต้องพูดกับผู้ใหญ่ หรือพูดกับคนที่มีฐานะเสมอกัน
  • เรา = ใช้เรียกแทนตัวเอง เมื่อต้องพูดกับผู้ที่ฐานะต่ำกว่า
  • ข้าเจ้า = เป็นคำที่บ่าวทาสเรียกแทนตัวเองต่อเจ้านาย ประชาชนทั่วไปพูดกับขุนนาง
  • ข้าพเจ้า = เป็นคำเรียกแทนตัวที่มีลักษณะอ่อนน้อม

สรรพนามบุคคลที่ 2

  • เธอ = เป็นคำที่ใช้เรียกเมื่อให้ความรู้สึกยกย่อง
  • ท่าน = เรียกผู้ที่มีฐานะเท่ากัน เทียบได้กับคำว่า มองสิเออร์ ในภาษาฝรั่งเศส
  • เอ็ง = เรียกคนที่มีฐานะต่ำกว่า
  • มัน = เป็นคำเรียกเชิงดูหมิ่น เหยียดหยาม
  • เจ้า หรือ ออเจ้า = เรียกผู้ที่ฐานะเสมอกัน หรือต่ำกว่า

ออเจ้า ไม่ได้ใช้เรียกคนที่ไม่รู้จักเสมอไป

คำนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะพูดกับผู้ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเท่านั้น เพราะเป็นคำที่พบในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ขุนช้างขุนแผน ก็ใช้เป็นสรรพนามเมื่อพูดกับผู้ที่รู้จักอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำว่า ออ นำหน้าชื่อด้วย เช่น ในขุนช้างขุนแผน นางศรีประจันเรียกนางพิมพิลาไลยว่า ออพิม เรียกพลายแก้วว่า ออแก้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีสรรพนามอีกหลายคำ ที่ใช้งานในสมัยโบราณ เช่น ฉัน ดีฉัน กระผม เกล้า ตู สู มึง เขา ฯลฯ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือของลาลูแบร์

คำอื่น ๆ ในบุพเพสันนิวาส

เว็จ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นคำเรียกห้องน้ำ

เทื้อคาเรือน ใช้เรียกหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ถึงแม้ว่าจะถึงวัยที่ต้องแต่งงานแล้ว เทียบกับคำสมัยนี้ว่า ขึ้นคาน นั่นเอง

ม้ากระทืบโรง มีความหมายว่า มีกิริยาไม่เรียบร้อย หรือ ม้าดีดกระโหลก และเป็นชื่อของสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย

Photos : Broadcast Thai Television
Source : Facebook @WipakHistory