Skip to content
5 สิ่งที่ควรทำ เมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวป่วยเป็น โรคซึมเศร้า

5 สิ่งที่ควรทำ เมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวป่วยเป็น โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ช่วงของชีวิต โดยมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การสูญเสีย ความผิดหวัง และยังสามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องมีสาเหตุใด ๆ อีกด้วย

ซึ่งการรักษาโรคนี้สามารถทำได้ด้วยการใช้ยา และการรักษาทางจิตใจ หรือต้องใช้วิธีการรักษาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยในส่วนของผู้ป่วยก็รักษาไปตามคำแนะนำของแพทย์ แต่คำถามก็คือ ในส่วนคนใกล้ชิดของผู้ป่วย จะต้องทำตัวอย่างไร ?

แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนนะว่า การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือเป็นคนไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

5 สิ่งที่ควรทำ เมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวป่วยเป็น โรคซึมเศร้า

1 – ทำตัวปกติ ไม่ต้องเอาใจเป็นพิเศษ

ไม่ต้องเอาอกเอาใจ หรือทำอะไรให้เป็นพิเศษ หลักก็คือ อย่าทำเหมือนเขาเป็นคนป่วย เพราะนั่นจะทำให้เขายิ่งรู้สึกว่าเป็นภาระคนอื่น พูดง่าย ๆ คือ ทำตัวตามปกติได้เลยค่ะ

2 – อย่าไปยุ่งกับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า จนทำให้รู้สึกกดดัน

ด้วยความหวังดีกับผู้ป่วย เราก็มักจะพยายามให้เขาทำนู้นนี่นั่น หรือห้ามทำอันนั้น ห้ามทำอันนี้ เพราะนั่น เป็นการกดดัน จนอาจจะไปบีบบังคับให้เขาไปทำอะไรโดยที่ไม่ควรทำ จากหวังดีเลยกลายเป็นประสงค์ร้ายไปเสียนี่ ดังนั้น อย่าไปเจ้ากี้เจ้าการเขาเลยค่ะ

3 – เลี่ยงการประชดแดกดัน

จริง ๆ ไม่แต่เพียงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเท่านั้นนะ ที่เราไม่ควรไปใช้คำพูด หรือกิริยาประชดแดกดัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นไปด้วยความหวังดีก็ตาม เพราะหลายคนคิดว่า การใช้คำพูดแรง ๆ อาจจะเป็นการช่วยเตือนสติได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว การทำแบบนั้น อาจยิ่งทำให้ความรู้สึกเขาจมดิ่งลงมากขึ้นไปอีก

4 – แค่รับฟังอย่างเข้าใจก็พอ

อย่าพยายามเอาตัวเองไปเป็นศูนย์กลางของปัญหา แลัวคิดตัดสินใจแทนผู้ป่วย อย่างเช่น เรื่องนี้เรามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ทำไมต้องคิดมากจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น เมื่อเขาระบายปัญหา หรือสิ่งที่เก็บกดอยู่ภายในใจ เราก็ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ฟังที่ดีก็พอ ถ้าให้ดีก็ไม่ต้องพูดอะไรเลย

5 – แต่อย่าใจร้อน

อย่าคาดหวังว่ายาจะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นในเร็ววันเร็วพรุ่ง แต่แล้วในที่สุดก็จะดีขึ้นเอง

อย่าลืมนะคะ โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อย่าลืมนะว่า คนที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายมีปัญหาซึมเศร้าถึงร้อยละ 45-64 ดังนั้น ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายต้องถามถึงเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย เพื่อประเมินความเสี่ยงซึ่งมีผลต่อการพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ

ดังนั้น เรามาช่วยคนที่เรารัก ทำความเข้าใจ และผ่านมันไปด้วยกันเถอะค่ะ

FACT : ข้อมูลจากผลการวิจัยของธนาคารโลก ที่ร่วมกับม.ฮาร์วาร์ด พบว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจาก โรคหัวใจหลอดเลือด

Source : กรมสุขภาพจิต