Skip to content
สรุปภารกิจ SpaceX - NASA จุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวอวกาศของมนุษยชาติ

สรุปภารกิจ SpaceX – NASA จุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวอวกาศของมนุษยชาติ

เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีชายคนหนึ่งประกาศต่อหน้าสาธารณะชนจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่า เขามีแผนพาคนเดินทางไปท่องเที่ยวที่ดาวอังคาร แต่ทุกคนที่ได้ยินข่าวนี้ ส่วนใหญ่ต่างก็ว่ามันเป็นแค่เพียงคำพูดที่อวดอ้างเกินจริง…

คืนวันเสาร์ที่ 30 พ.ค. 2020 เวลา 2.22 น. ตามเวลาในประเทศไทย จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ได้ส่งนักบินอวกาศ 2 นายที่อยู่ในยานอวกาศ ครูดราก้อน (Crew Dragon) ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

มนุษย์สามารถขึ้นไปท่องอวกาศมานานหลายทศวรรษแล้ว อะไรถึงทำให้ครั้งนี้ผู้คนสนใจและดูน่าตื่นเต้นกับภารกิจท่องอวกาศครั้งนี้เป็นพิเศษ ?

ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ส่งนักบินอวกาศออกจากแผ่นดินของตัวเอง คือเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2011 ด้วยกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Space Shuttle Atlantis) และกลับมายังพื้นโลกในวันที่ 21 ก.ค. ของปีเดียวกัน

มีการเปิดเผยว่า แอตแลนติสมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 95,000 ล้านบาท ด้วยเงินที่ต้องใช้มากมายมหาศาล และจากการที่นาซ่าถูกตัดงบประมาณ การส่งนักบินอวกาศไปสำรวจอวกาศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นาซ่าจึงต้องพึ่งพายานอวกาศของรัสเซียที่มีชื่อว่า โซยูส (Soyuz) ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่นั่งละ 80 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท

ระหว่างนั้น นาซ่าก็ได้ทำการพัฒนาโปรเจกต์ที่ใช้ชื่อว่า Commercial Crew Program คือเป็นโปรเจกต์ที่จะทำให้การท่องอวกาศเป็นการพาณิชย์ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนายานอวกาศ ที่สามารถพาคนขึ้นไปท่องอวกาศได้

ในปี 2014 มี 2 บริษัทที่นาซ่าให้ความสนใจ นั่นก็คือ SpaceX และ Boeing แต่สุดท้ายนาซ่าก็เลือก SpaceX ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะสามารถพาคนขึ้นไปสู่อวกาศได้อย่างมีเสถียรภาพ และนี่ก็เป็นที่มาของภารกิจล่าสุดที่เกิดขึ้น

คืนวันเสาร์ที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา จรวดฟอลคอน 9 ของ SpaceX ก็ได้พายานอวกาศที่มีชื่อว่า Crew Dragon ที่บรรทุกนักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน 2 นาย ออกจากศูนย์บัญชาการเคนเนดี้สเปซเซ็นเตอร์เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลา 12 นาที ในการขึ้นสู่วงโคจร และใช้เวลาอีก 19 ชั่วโมง ในการเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ

Embed from Getty Images

โดย SpaceX ได้นำเอาระบบการเชื่อมต่อยานอวกาศเข้ากับสถานีอวกาศแบบอัตโนมัติอันน่าทึ่งมาใช้ ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนกับระบบรถยนต์ไร้คนขับของเทสล่า หรือระบบจอดรถอัตโนมัติที่มีในรถยุโรปหลาย ๆ รุ่น

ในคืนวันที่ 31 พ.ค. หลังจากเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติได้แล้ว นักบินอวกาศ 2 นายก็ได้พบนักบินอวกาศ 3 นายที่ประจำอยู่บนสถานี จากนั้นทั้งหมดก็ได้ไลฟ์สดกลับมายังโลก เพื่อพูดคุยและตอบคำถามต่าง ๆ กับคนบนโลก ภาพเสียงชัดแจ๋ว ไม่มีสัญญาณรบกวน หรือภาพล้มขาดการติดต่อเหมือนที่เราเคยเห็นในหนังไซไฟยุคก่อน ๆ

จนในท้ายที่สุด Crew Dragon ก็จะนำนักบินอวกาศ 2 นายกลับมาสู่โลกอย่างปลอดภัย จึงจะเสร็จสิ้นภารกิจโดยสมบูรณ์ โดยทางนาซ่าประกาศออกมาว่า กำหนดเดินทางกลับน่าจะประมาณ 6-16 สัปดาห์ข้างหน้านี้

Crew Dragon เมื่อมุ่งหน้ากลับสู่พื้นโลก ยานที่มีการเสริมโครงสร้างเพื่อรับแรงเสียดทางอันมหาศาลที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก จะตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยจะมีเรือของ SpaceX มารับนักบินกลับบ้านอย่างปลอดภัย

และสิ่งที่ทำให้ SpaceX ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก็คือ การทำให้จรวดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง ทำให้ประหยัดงบประมาณได้อย่างมาก โดยเจ้าจรวดฟอลคอน 9 เมื่อทำหน้าที่ส่งยานอวกาศจนเข้าสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันก็จะมาลงจอดบนเรือที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติที่มีชื่อว่า Of Course I Still Love You ที่รอรับการลงจอดของจรวดฟอลคอน 9 อยู่กลางมหาสมุทร

หากทุกอย่างเป็นที่ตามที่กล่าวไว้ มนุษย์จะขึ้นไปท่องอวกาศถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ โดยรอบถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. โดยจะมีนักบินอวกาศอีก 4 คน

และในปี 2023 ทาง SpaceX ได้ประกาศออกมาแล้วว่า ยูซากุ มาเอซาวา มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น จะเป็นผู้โดยสารคนแรกของบริษัทฯ ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวรอบดวงจันทร์

แต่ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ยังไม่ใช่เป้าหมายของ SpaceX ว่าที่จริงต้องบอกว่า มันไม่ใช่เป้าหมายของผู้ชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์ เป้าหมายของเขาไปไกลกว่านั้นมาก มันคือการพามนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2030

แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะดาวอังคารอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์ถึง 160 เท่า หรือประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร นั่นเท่ากับว่า ต้องใช้เวลาการเดินทางยาวนานถึง 8 เดือน

ผู้ชายคนที่พูดว่าเขาจะพาคนไปท่องเที่ยวอวกาศเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ที่ดูจะเป็นคำพูดโอ้อวดเกินจริง วันนี้เขาทำได้ ใครจะรู้ อีก 10 ปีข้างหน้า มนุษย์อาจจะไปเหยียบดาวอังคารได้จริง ๆ

และในอนาคต ทริปท่องเที่ยวพักร้อนที่คนใฝ่ฝันอาจจะไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ หรือจุดหมายภายในโลก แต่มันอาจจะเป็นดาวอังคารก็เป็นได้…

Embed from Getty Images

Source: SpaceX.com