Skip to content
รีวิว Miller’s Girl (2024) หลักสูตรร้อนซ่อนรัก : มาร์ติน ฟรีแมน - เจนน่า ออร์เทก้า

รีวิว Miller’s Girl (2024) หลักสูตรร้อนซ่อนรัก : เด็กเนิร์ด สาวฮอต นางมาร

ความน่าสนใจของหนังที่มีบทอันโดดเด่น และได้นักแสดงที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่าง เจนน่า ออร์เทก้า ทำให้ Miller’s Girl เป็นหนังที่หลายคนนับวันรอ จนเมื่อทาง Lionsgate ปล่อยตัวอย่างออกมา เสียงวิจารณ์และความรู้สึกไม่สบายใจของแฟน ๆ ‘น้องวันพุธ’ ก็เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างครูรุ่นพ่อกับนักเรียนสาวรุ่นลูก ทำให้เกิดคำถามเรื่องศีลธรรมและความเหมาะสม หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าขยะแขยง บ้างก็ระบายถึงความผิดหวังในตัว ‘เจนน่า’ ที่รับเล่นในบทบาทที่หมิ่นเหม่ต่อความรู้สึกของแฟน ๆ … แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า ?

เจนน่า ออร์เทก้า | Lionsgate

เสน่ห์ที่ชวนค้นหาของเจนน่า

หนังจะค่อย ๆ ให้เราละเลียดเรื่องราวไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความรู้สึกระทึกขวัญหลอน ๆ ระหว่างนั้น เราจะรู้สึกว่าไคโรมีมิติบางอย่าง ที่ทำให้นึกถึง ‘น้องวันพุธ’

ไคโร สวีต (รับบทโดย เจนน่า ออร์เทก้า) เด็กสาวมัธยมปลายวัย 18 ที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์โบราณ (น่าขนลุก) ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของรัฐเทนเนสซี รัฐทางตอนใต้ที่ชาวเมืองส่วนใหญ่มีหัวอนุรักษนิยม พ่อแม่ของเธอเป็นทนายความที่ต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจทั่วโลก ทำให้เธอต้องอยู่เพียงลำพัง ท่ามกลางชีวิตวัยรุ่นที่น่าเบื่อหน่าย ไคโรตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การเป็นผู้ใหญ่คืออะไร ?” ความเบื่อหน่าย ทำให้เธออยากหนีจากชีวิตซ้ำซากในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ เธอได้แต่ฝันถึงชีวิตที่น่าตื่นเต้น เหมือนตัวละครในหนังสือที่เธอชื่นชอบ

การที่ไคโรได้ลงเรียนในคลาสการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เธอได้พบกับ โจนาธาน มิลเลอร์ (รับบทโดย มาร์ติน ฟรีแมน) ครูรุ่นพ่อ ที่มองเห็นพรสวรรค์ในตัวไคโร เขามองเธอในฐานะลูกศิษย์ ที่สามารถเติมเต็มความฝันการเป็นนักเขียนที่ไม่เคยสำเร็จของตัวเอง

เมื่อใกล้สอบกลางภาค โจนาธานจึงมอบหมายโปรเจกต์ให้ไคโรได้เขียนเรื่องสั้น ในสไตล์ของนักเขียนที่เธอชื่นชอบ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่หมิ่นเหม่ก้าวข้ามเส้นศีลธรรมอันซับซ้อน

โจนาธานทำให้ไคโร (คิดว่าตัวเอง) เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ ที่เธอกำลังตามหา พร้อมความหมายของคำว่า ‘พรหมจรรย์’ ที่อาจต้องยอมสูญเสียไป เพื่อจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งสำหรับเธอแล้วมันยิ่งใหญ่มากพอที่จะลองเสี่ยง เสี่ยงต่อการก้าวข้ามเส้นแบ่งของศีลธรรม เรื่องเพศ และอายุ

อีกด้านหนึ่ง ไคโรก็เป็นคนที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตห่วย ๆ ขี้แพ้ของโจนาธานเช่นกัน ภรรยาขี้เมาของโจนาธาน เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนเขาต้องยอมทิ้งความฝันที่จะเป็นนักเขียนของตัวเอง เนื่องจากงานเขียนของเขาถูกนักวิจารณ์สับเละ ไคโรจึงเป็นเหมือนกุญแจ ที่ทำให้เขารู้สึก (หลอกตัวเอง) ว่ายังคงเป็นนักเขียน ไม่ใช่ครูมัธยมปลายแก่ ๆ ที่ไร้ค่า

จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้เกิดจากแรงผลักดันแบบทั่วไป แต่เกิดจากการได้สิ่งที่เข้ามาเติมเต็มปมของตัวเอง ดังนั้นความสัมพันธ์ของไคโรกับโจนาธาน จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เน้นไปในเชิงความรู้สึก มากกว่าความสัมพันธ์ทางร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่า เราจะไม่ได้เห็นฉากวาบหวิวของทั้งคู่เลย … เพราะสำหรับไคโร ความสัมพันธ์นี้จะเรียกว่า ‘ความรัก’ น่ะเหรอ ก็ไม่ใช่ หรือจะเรียกว่า ‘ความใคร่’ ก็ไม่ใช่อีก แล้วมันคืออะไร ?

กิเดียน แอดลอน – เจนน่า ออร์เทก้า | Lionsgate

เด็กเนิร์ด สาวฮอต และนางมาร

ไคโรเขียนเรื่องสั้นแนวอีโรติก ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์ ทำให้โจนาธานตกใจมาก ทำให้เขาตัดสินใจขีดเส้นแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอว่า เป็นเพียงครูกับลูกศิษย์ เมื่อไคโรรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิเสธ เธอจึงคิดที่จะทำลายอาชีพและชีวิตของโจนาธาน

อย่างไรก็ตาม การที่หนังพยายามให้น้ำหนักกับตัวละครทั้งสองตัวใกล้เคียงกัน แทนที่จะเลือกโฟกัสไปที่ไคโร ตัวละครที่ดูน่าสนใจกว่า ทำให้เมื่อถึงช่วงที่หนังต้องพาเราไปยังจุดพีค ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่

ปัญหาคือเราสามารถคาดสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หนังไม่ได้พาตัวละครไปไกลเกินกว่าจุดที่เราคาดหวังเลย … โจนาธาน คือคนขึ้แพ้ที่ไม่เอาไหน ที่พาให้ชีวิตตัวเองตกต่ำ ในที่สุดเขาก็กลายเป้านิ่งให้สังคม คนรอบข้างลงโทษ แย่ถึงขนาดที่ว่า ภรรยาของเขาบอกว่าผลลัพธ์ของชีวิตคู่ของเธอกับเขาคือ แก้วเหล้าที่อยู่ในมือของเธอ

ในส่วนของไคโร ช่วงแรกสามารถดึงเราให้หลงเข้าไปห้วงความหลอน และดึงให้เราติดตามพัฒนาการ จากเด็กเนิร์ดที่วัน ๆ เอาแต่อ่านหนังสือ เปลี่ยนเป็นสาวฮอตของโรงเรียน กระทั่งเมื่อเธอรู้สึกถูกโจนาธานหักหลัง เธอจึงเปลี่ยนตัวเองอีกครั้งเป็นนางมาร ที่กระหายในการแก้แค้น

เมื่อเราคาดเดาตอนจบของเรื่องได้ ทำให้ตอนท้ายจืดชื่น และเบาบางจนทำให้สิ่งดี ๆ ที่หนังพยายามปูมาตลอดทั้งเรื่องแทบจะไร้ค่า … ไม่ต่างอะไรกับเชฟที่พรีเซนต์สตอรีวัตถุดิบ ‘เนื้อชั้นยอด’ ได้อย่างน่าตื่นเต้น แล้วจู่ ๆ ก็หยิบเอาใบกะเพราออกมาวาง ทำให้เราแปลกใจเล็กน้อย แล้วจบลงด้วยการเสิร์ฟ ‘ผัดกะเพราเนื้อราดข้าว’

สรุป รีวิว Miller’s Girl

มวลสารพิเศษของหนังเรื่องนี้คือ บทที่น่าสนใจและเสน่ห์ของน้องเจนน่า เป็นสองสิ่งที่มีศักยภาพมากพอที่จะพาหนังไปถึงจุดพีคมากกว่านี้ แต่น่าเสียดาย ที่ผู้กำกับ เจด บาร์ทเล็ตต์ ไม่สามารถดึงศักยภาพมาใช้ได้อย่างเต็มที่

6/10

Source : Lionsgate.com